บันทึกการเรียนรู้ครั้งที่ 5

วันอังคารที่ 8 พฤษภาคม พ.ศ. 2561

บทความ

เมื่อลูกน้อยเรียนรู็คณิต-วิทย์จากเสียงดนตรี

เมื่อลูกน้อยเรียนรู้คณิต วิทย์จากเสียงดนตรี


 เมื่อลูกน้อยเรียนรู้คณิตวิทย์จากเสียงดนตรี บูรณาการกิจกรรมเพื่อสร้างนักวิทยาศาสตร์น้อยเมื่อส่งลูกเข้าเรียนอนุบาล พ่อ-แม่ คาดหวังอะไร ?.พ่อ-แม่หลายคนอาจต้องถามตัวเองใหม่ ปัจจุบันการเรียนรู้ระดับปฐมวัยสิ่งที่สำคัญคือ การสร้าง “เจตคติที่ดี” ในการเรียนรู้ของเด็กโดยผ่านกระบวนการจัดการเรียนรู้และกิจกรรมต่างๆ
 
ซึ่งเป็นหนึ่งในภารกิจของ  “โครงการบูรณาการวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และเทคโนโลยีปฐมวัย” โดย สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.)ในงานเปิดตัวกรอบมาตรฐานและคู่มือการจัดการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ปฐมวัย ของ สสวท.  เมื่อเร็วๆนี้ ที่โรงแรมแอมบาสซาเดอร์ สุขุมวิท ได้มีการจัดอบรมเชิงปฏิบัติการเรื่อง  “การเรียนรู้วิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ผ่านดนตรี”   เพื่อเป็นตัวอย่างการจัดการเรียนการสอนให้กับครูปฐมวัยที่
เข้าร่วมอบรมกว่า 100  คน

วิทยากรเริ่มต้นด้วยการสมมติว่า นี่คือห้องเรียนให้ผู้เข้าอบรม (นักเรียน) ส่งลูกบอลตามจังหวะเพลง พร้อมแสดงท่าทางประกอบ เพื่อสร้างความสนุกสนาน เป็นการนำเข้าสู่บทเรียน จากนั้นชวนผู้เข้าอบรมสังเกตว่า  พบอะไรจากกิจกรรมนี้ ซึ่งมีคำตอบหลากหลายเช่น ความหนัก-เบา ความเร็ว-ช้า ความตื่นเต้น สนุกสนาน ได้ใช้สมาธิในการฟัง การใช้ประสาทสัมผัส เป็นต้น   จากนั้นชวนตั้งคำถามต่อว่า “ร่างกายของเราจะทำให้เกิดเสียงได้หรือไม่?” ผู้เข้าอบรมจะพยายามหาคำตอบจากการทดลองปฏิบัติจากร่างกายตนเองว่า เสียงเกิดขึ้นได้จากการกระทำอย่างไรได้บ้าง เช่น การสั่น การตี  การดีด

หลังจากนั้น เริ่มนำอุปกรณ์ต่างๆที่ใช้ในชีวิตประจำวันเข้ามาร่วม  เช่น ช้อน ตะเกียบ ขวดเล็ก ขวดใหญ่ ลูกแก้ว ถั่วเขียว เป็นต้น  และชวนผู้เข้าร่วมอบรมสร้างเสียงจากอุปกรณ์เหล่านี้ และตั้งคำถามต่อไปเรื่อยๆว่า อุปกรณ์ต่างๆกันเสียงต่างกันหรือไม่ อย่างไร จากนั้นนำประสบการณ์ที่ได้มาชวนพูดคุยว่าได้เรียนรู้เรื่องอะไรบ้าง ทำให้ผู้เข้าอบรมสามารถสร้างองค์ความรู้ได้ด้วยตนเอง จากการลงมือปฏิบัติจริง
แล้วชวนทำกิจกรรม “ร้องรำทำเพลง” คือ การชวนฝึกร้องเพลงตามจังหวะร่วมกัน แล้วชวนตั้งคำถามว่า พบอะไรจากเพลงนี้ ผู้เข้าอบรมจะสามารถตอบได้จากประสบการตรงของตัวเองเช่น มีเสียงสูง เสียงต่ำ เสียงเบา เสียงค่อย เสียงสั้น เสียงยาว จากนั้นนำจังหวะเหล่านี้มาแทนค่าด้วยสัญลักษณ์ต่างๆ เช่น สามเหลี่ยม สี่เหลี่ยม เพื่อให้ได้เรียนรู้เกี่ยวกับรูปทรงคณิตศาสตร์จากเสียงดนตรี ทำให้การเรียนรู้ของเด็กเป็นเรื่องสนุกสนาน และไม่ถูกยัดเหยียดด้วยแบบฝึกหัด หรือคำบรรยายของครู เพราะการเรียนรู้ทุกอย่างจะทำผ่านกิจกรรมในการลงมือปฏิบัติ  จะเห็นได้ว่า ดนตรีสามารถนำมาเชื่อมโยงกับวิชาต่างๆได้ แม้แต่คณิตศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ เพื่อให้เด็กได้เรียนรู้
ดร.เทพกัญญา  พรหมขัติแก้ว   หัวหน้าโครงการบูรณาการวิทย์-คณิต และเทคโนโลยีปฐมวัย  สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) ซึ่งเป็นวิทยากรอบรมเชิงปฏิบัติการ
ครั้งนี้ พูดถึงกิจกรรมการบูรณาการดนตรีในการเรียนรู้คณิต-วิทย์ปฐมวัยว่า สาระสำคัญของการเรียนการสอนในรูปแบบนี้คือ “กระบวนการ”  จะไม่มีการบรรยาย ความรู้ที่เด็กได้รับมาจากการปฏิบัติจริง ครูเป็นผู้สร้างคำถาม เด็กลงมือปฏิบัติเพื่อหาคำตอบ และนำมาสรุปร่วมกัน
  “เราจะเน้นให้เด็กได้คิด ได้ตั้งคำถาม เด็กเห็นขวด 1 ใบจะทำให้เกิดเสียงได้อย่างไร เด็กต้องมาคิดต่อ มาสืบเสาะหาความรู้ เด็กจะรู้จักการสร้างองค์ความรู้ได้ด้วยตนเอง เปลี่ยนจากครูเป็นศูนย์กลาง เป็นการให้เด็กเป็นศูนย์กลางแทน”
ดร.เทพกัญญา ชี้ให้เห็นอีกว่า การนำดนตรีเข้ามาเป็นตัวดำเนินกิจกรรมนั้น เสียงของคนตรีทำให้เด็กได้เรียนรู้เรื่องของวิทยาศาสตร์ เช่น กำเนิดเสียงเกิดจากอะไร เกิดได้อย่างไร  ส่วนจังหวะของดนตรีเป็นการเรียนรู้เรื่องคณิตศาสตร์ได้ ซึ่งกิจกรรมในรูปแบบนี้ทำให้เห็นความสัมพันธ์ระหว่างวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์และดนตรี  กิจกรรมนี้ สสวท.ต้องการทำเป็นตัวอย่างการเรียนการสอนให้แก่คุณครูปฐมวัย ให้เห็นว่าวิทย์-คณิตนั้นสอดแทรกเรื่องดนตรีได้อย่างไร ซึ่งครูแต่ละคนจะต้องนำไปปรับใช้ให้เหมาะสมกับเด็กแต่ละช่วงวัยด้วยตนเอง
ด้าน อาจารย์ศุภนุช  ตันติอภิกุล ผู้อำนวยการโรงเรียนอนุบาลบ้านทิพย์  ผู้เข้าร่วมสังเกตการณ์กิจกรรมนี้ด้วย  บอกว่า กิจกรรมสาธิตนี้ ครูสามารถนำไปปรับใช้ที่โรงเรียนได้ เพราะเด็กแต่ละช่วงชั้นตั้งแต่ อนุบาล 1-3 กิจกรรมที่นำมาใช้ควรจะต้องแตกต่างกันไป และให้เหมาะสมในแต่ละวัย
“สมัยก่อนนั้นการเรียนการสอนเป็นแบบเก่าๆ คือ การท่องอย่างเดียว ซึ่งการสอนลักษณะเช่นนี้ทำให้เด็กคิดไม่เป็น แปลงไม่ได้    แต่การเรียนรู้แบบใช้กิจกรรมบูรณาการทำให้เด็กรู้สึกสนุกสนาน ตื่นเต้น  เด็กไม่ต้องท่องจำ เป็นการค่อยๆปลูกฝังเขาที่ละเล็กละน้อย เด็กจะเกิดการเรียนรู้ขึ้นมา ซึ่งที่โรงเรียนก็เน้นการเรียนการสอนแบบบูรณาการเช่นกันโดยแต่ละวันจะทำกิจกรรมอะไรนั้นจะดูความสนใจของเด็กเป็นหลักว่าช่วงเวลานั้นๆ เด็กอยากเรียนรู้อะไร หรือครูผู้สอนเองจะพยายามสร้างความสนใจให้เด็ก เพื่อนำเข้าสู่เนื้อหา อย่างไรก็ตาม กิจกรรมแต่ละกิจกรรมทั้งวิทย์ คณิต ศิลปะ ดนตรี กิจกรรมกลางแจ้งต่างๆเหล่านี้ สามารถนำมาเชื่อมโยงกันได้”
ด้าน คุณครูแววดาว  ดวงแก้ว  สอนชั้นเตรียมอนุบาลโรงเรียนอนุบาลบ้านพลอยภูมิ บอกว่า   การอบรมครั้งนี้สามารถนำไปใช้ในการเรียนการสอนที่โรงเรียนได้ โดยเฉพาะในช่วงซัมเมอร์นี้ ที่โรงเรียนจะทำค่ายดนตรีกับชีวิต ดังนั้นนรูปแบบกิจกรรมต่างๆสามารถนำไปปรับใช้กับเด็กได้ ซึ่งที่โรงเรียนก็เน้นกิจกรรมเพราะนำมาบูรณาการได้หลายวิชา  เช่น ดนตรีนำมาเชื่อมโยงกับวิทย์-คณิต ได้ รวมทั้งการพัฒนาทางด้านสังคม ด้านจิตใจ ของเด็กด้วย
 
คุณครูแววดาว บอกอีกว่า การสอนในระดับชั้อนุบาลนั้นเป็นการเตรียมพร้อมให้กับเด็ก ให้เด็กเกิดความรู้สึกคุ้นเคยกับเพื่อนๆ กับครู ต้องทำให้เขารู้สึกมีความสุขเหมือนกับที่อยู่บ้าน ต้องสร้างความไว้วางใจในตัวครู เขาจะเรียนรู้อย่างสนุก
ส่วน คุณครูปัญญ์ชลี  ไวยธรรม ครูอนุบาลโรงเรียนสันติดรุณ จังหวัดสมุทรปราการ  ยอมรับว่าครั้งนี้เป็นการอบรมเชิงปฏิบัติการครั้งแรกในรูปแบบกิจกรรมบูรณาการโดยใช้ดนตรี ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อการสอนของตนต่อไป และนำไปใช้ได้  ซึ่งเห็นด้วยว่าการสอนแบบบูรณาการทำให้เด็กได้ลงมือปฏิบัติ ได้ค้นคว้าด้วยตัวเอง อย่างไรก็ตาม การสอนเด็กด้วยอุปกรณ์ต่างๆนั้นครูจำเป็นต้องดูแลอย่างใกล้ชิด
  “โรงเรียนเริ่มนำวิธีการบูรณาการมาใช้ประมาณ 2-3  ปีการศึกษาแล้ว โดยใช้กิจกรรมเป็นตัวเชื่อมโยงวิชาต่างๆทั้งวิทย์ คณิต ภาษาไทย อังกฤษ  รวมทั้งอิสลามศึกษาด้วย”คุณครูภทพร  สุคนธพันธ์  จากสถานพัฒนาและเลี้ยงดูเด็กอ้อมอุ่น จังหวัดปทุมธานี เห็นว่า การเรียนการสอนในรูปแบบกิจกรรมบูรณาการนั้นสำหรับเด็กเล็กๆ สามารถนำไปใช้ได้ เพียงแต่ไปปรับให้เหมาะสมกับวัย และการเรียนรู้ในรูปแบบนี้จะติดตัวเด็กไปจนโต ฝังรากลึก การเรียนรู้ที่ทำให้เด็กมีความสุขเป็นเรื่องสำคัญ ซึ่งก็คือ เจนตคติ ดังนั้นต้องมีการสร้างกระบวนการขึ้น ครูจะต้องมีความตระหนักตรงนี้

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น